วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การทำกระดาษใยสับปะรด ตอนที่1

สวัสดีครับช่วงนี้ก็ใกล้เทศกาลปีใหม่แล้ว มาทำกระดาษใยสับปะรดเอาไว้ห่อของขวัญ หรือของฝากสวยๆ ซึ่งกระดาษใยสับปะรดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่นทำเป็นกล่องต่าง ๆ ตกแต่งบอร์ด ทำการ์ด ใบประกาศ ซองจดหมาย ฯลฯ และยังสามารถสร้างรายได้ภายในครอบครัวได้อีกทางด้วย มาดูวิธีการทำกระดาษใยสับปะรดกันเลย
วัสดุที่ใช้ในการทำกระดาษใยสับปะรด
  1. ใบสับปะรด
  2. โซดาไฟ
  3. สีย้อมผ้า
  4. ผงคลอรีนหรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
ขั้นตอนการผลิตกระดาษใยสับปะรด

จากการที่ใบสับปะรดมีเส้นใย ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาทำเป็นกระดาษได้ซึ่งการที่มีผู้ทดลองค้นคว้า ปรากฎว่าใบสับปะรดจากส่วนต่าง ๆ คือ ใบจากลำต้นใบจากหน่อ และใบจากจุก ส่วนบนของผลสับปะรดสามารถนำมาทำกระดาษได้ด้วยกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับกระดาษสา จะแตกต่างกันคือ ใช้อัตราส่วนสารเคมีคือโซดาไฟ ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าการทำกระดาษสานอกจากนั้นการใช้ใบสับปะรดสดและใบสับปะรดแห้งในการผลิตก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือใบสับปะรดสดจะใช้อัตราส่วนโซดาไฟน้อยกว่าใบแห้งและมีคุณสมบัติที่ได้แตกต่างกันด้วย ซึ่งจากการทดลองในการผลิตพบว่าหลังการต้มใบสับปะรดชนิดต่าง ๆ ด้วยโซดาไฟจะได้เยื่อกระดาษที่ชุ่มน้ำ ดังนี้
  • ใบสับปะรดสด :   ให้เยื่อกระดาษที่ชุ่มน้ำประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักใบสับปะรดที่ใช้ต้ม
  • ใบสับปะรดแห้ง : ให้เยื่อกระดาษที่ชุ่มน้ำประมาณร้อยละ 70 ของน้ำหนักใบสับปะรดที่ใช้ต้ม
ปริมาณการใช้วัตถุดิบและสารเคมีในกระบวนการผลิต
  •  การต้มเยื่อสับปะรด
         - ใบสับปะรดแบบคละใบ (ใบสดและใบแห้ง) 14 กิโลกรัม
         - โซดาไฟ 1 กิโลกรัม
         - น้ำ 18 ลิตร
  • การฟอกเยื่อสับปะรด
         - เยื่อสับปะรดที่ได้ ประมาณ 1.5 กิโลกรัม
         - ผงคลอรีนหรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.1 กิโลกรัม
         - น้ำ 5 ลิตร

การต้มเยื่อสับปะรดแต่ละครั้ง เราจะใช้ใบสับปะรด 14 กิโลกรัม โซดาไฟ 1 กิโลกรัม น้ำ 18 ลิตร ต้มด้วยกะทะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว เป็นเวลา3 -4 ชั่วโมงถ้าต้องการฟอกนำเยื่อสับปะรดที่ต้มแล้วเติมผงคลอรีน หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 100 กรัม ผสมให้เข้ากันทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีล้างให้สะอาด เติมสีย้อมผ้า 1 ซอง แล้วนำไปผลิตเป็นแผ่นกระดาษได้ 20 แผ่น ขนาดของกระดาษ 55x 80 เซนติเมตร

การล้างใบสับปะรดในน้ำ
ก่อนนำใบสับปะรดไปแช่หรือล้างน้ำควรเลือกและตัดแต่งส่วนที่สกปรกมากหรือเป็นเชื้อราที่ไม่สามารถล้างออกด้วยน้ำได้ทิ้งไป เพื่อให้ได้กระดาษที่มีคุณภาพดีการล้างใบสับปะรดให้ล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อให้เศษดิน ทราย และสิ่งสกปรกต่าง ๆที่ติดมาหลุดร่วงออกไป วิธีการล้างที่ดีควรแช่ไว้พักหนึ่งก่อนเพื่อให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ อ่อนตัวและล้างออกได้โดยง่ายหากมีบ่อล้างหรือภาชนะแช่อื่นเพียงพอ อาจแช่น้ำไว้ข้ามคืนแล้วค่อยล้างออกก็ได้

การต้มใบสับปะรดด้วยโซดาไฟ
การต้มด้วยโซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์ ) ที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะทำให้ใบสับปะรด เปื่อยยุ่ย เมื่อนำไปตีเยื่อจะแตกตัวได้ดีการดูว่าใบสับปะรดที่ต้มได้ที่หรือยัง สามารถทดสอบได้ด้วยการใช้มือบีบดู หากใบสับปะรดนิ่มเละโดยง่ายแสดงว่าต้มได้ที่แล้วให้ตักขึ้นพักไว้ก่อนเพื่อให้คลายตัวแล้วจึงนำไปล้างน้ำสะอาดต่อไป การต้มใบสับปะรดน้ำต้มที่ผสมโซดาไฟที่เหลือจากการต้มใบสับปะรดครั้งที่ 1 สามารถใช้ในการต้มใบสับปะรดครั้งที่ 2 และ 3 ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำในการต้ม เพียงใส่โซดาไฟเพิ่มจำนวน3 ใน 5 ส่วนของการต้มครั้งแรกและเติมน้ำทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับการต้มก็สามารถใช้ต้มได้ดีเช่นเดียวกับการต้มครั้งแรกการต้มในครั้งที่ 2 และ 3 จะประหยัดเวลาและเชื้อเพลิงในการต้มเนื่องจากน้ำต้มนั้นมีความร้อนอยู่แล้ว
ข้อควรระวังในการต้มใบสับปะรดด้วยโซฟาไฟคือการใช้อัตราส่วนของโซดาไฟสูงเกินไป จะทำลายเยื่อใบสับปะรดที่มีความบางเยื่อที่ได้จะเละเป็นผงละเอียดเล็ก ๆ และลอดตะแกรงที่ใช้ทำเป็นแผ่นกระดาษนอกจากนั้นอุณหภูมิของการต้มเป็นสิ่งสำคัญต้องรักษาอุณหภูมิของการต้มให้สม่ำเสมอประมาณ 100 องศาเซลเซียสตลอดระยะเวลาของการต้มหากอุณหภูมิต่ำกว่าจะทำให้การเปื่อยยุ่ยของเยื่อเนิ่นนานออกไปมากกว่าระยะเวลาที่กำหนดได้ทำให้เสียเวลาและเสียเชื้อเพลิงในการต้ม
การต้มใบสับปะรดด้วยโซดาไฟเพื่อเอาเยื่อสับปะรด
ล้างด้วยน้ำสะอาด
นำเยื่อที่ผ่านการต้มมาล้างโซดาไฟออกให้หมดด้วยน้ำสะอาด 2 - 3 ครั้ง เยื่อที่ล้างด้วยโซดาไฟไม่หมดอาจทำให้กระดาษมีคุณภาพไม่ดีกรอบแห้ง เมื่อเก็บไว้นาน ๆ เยื่อที่ได้จากการต้มจะมีลักษณะเปื่อยยุ่ยและไม่เป็นชิ้นเป็นเส้นเช่นเยื่อปอสาการล้างเยื่อสับปะรดจึงต้องใช้ถุงผ้าตาข่ายไนล่อนตาถี่ชนิดเดียวกับที่ใช้ตะแกรงหล่อกระดาษใส่และล้างอีกทีหนึ่งเพื่อรักษาเยื่อไว้ไม่ให้เสียไปกับน้ำที่ใช้ล้างการระบายน้ำของเยื่อไม่ดีเท่าปอสา จึงต้องใช้วิธีการเหยียบให้น้ำระบายร่วมกับการล้างเยื่อ
การล้างเยื่อสับปะรด
การฟอกขาวเยื่อสับปะรด
ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่ต้องการกระดาษขาวและกระดาษย้อมสีที่มีสีสม่ำเสมอทั่วทั้งแผ่น จึงต้องฟอกขาวเยื่อก่อนนำไปย้อมสีหากต้องการกระดาษสีธรรมชาติไม่ต้องทำการฟอกขาวในขั้นตอนนี้นำใบสับปะรดที่ผ่านการต้มแล้วไปตีเยื่อและทำเป็นแผ่นกระดาษได้เลย
การฟอกขาวจะใช้วิธีการฟอกขาวด้วยการต้มด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เข้มข้น 50% และโซเดียมซิลิเกต ในอัตราส่วน ไฮโดรเจน-เปอร์ออกไซด์ 10%, โซเดียมซิลิเกต5% ของน้ำหนักเยื่อใบสับปะรดหลังการต้มด้วยโซดาไฟ คือใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 100 กรัม , โซเดียมซิลิเกต 50 กรัมต่อน้ำหนักเยื่อใบสับปะรดหลังการต้มที่ใช้ในการผลิต 1 กิโลกรัมใส่ลงในน้ำที่ใช้ในการต้มประมาณ 5 ลิตรเมื่อน้ำเริ่มร้อนแต่ยังไม่เดือด โดยสังเกตได้จากน้ำเริ่มมีไอลอยที่บริเวณผิวหน้าและมีเสียงร้องของน้ำ จึงเติมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ลงไปก่อนและใช้ไม้กวนละลายแล้วจึงเติมโซเดียมซิลิเกตลงไป แล้วใช้ไม้กวนละลายให้เข้ากัน (ไฮโดรเจน-เปอร์ออกไซด์จะเป็นตัวทำปฏิกิริยาในการฟอกขาวเยื่อแต่มีคุณสมบัติที่ระเหยไปในอากาศได้โดยง่าย ส่วนโซเดียมซิลิเกตจะช่วยรั้งเปรียบเสมือนกับฉนวนกั้นไม่ให้ไฮโดรเจน-เปอร์ออกไซด์ระเหยไปโดยง่าย)ใส่เยื่อใบสับปะรดลงต้มที่อุณหภูมิประมาณ80 - 90 องศาเซลเซียสใช้เวลาในการต้มประมาณ 20 - 30 นาที ระหว่างการต้มใช้ไม้กวนเป็นระยะ ๆเพื่อให้เยื่อพลิกไปพลิกมา เพื่อให้ได้สัมผัสและรับสารเคมีในการฟอกอย่างทั่วถึง
การฟอกเยื่อขาว อาจใช้การฟอกขาว ด้วยการแช่น้ำผสมคลอรีน ทำได้เป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง แต่มีข้อเสียคือคลอรีนเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้างนาน สลายตัวตามธรรมชาติได้ยากน้ำผสมคลอรีนที่เหลือจากการฟอกขาว หากไม่มีการบำบัดที่ดีจะเป็นผลเสียต่อสภาพแวดล้อมได้ซึ่งต่างจากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่สามารถสลายตัวได้ง่ายกว่า
ล้างด้วยน้ำสะอาด
นำเยื่อที่ผ่านการฟอกขาวมาล้างด้วยน้ำสะอาดประมาณ 2-3ครั้ง เพื่อให้หมดจากสารเคมีที่ใช้ในการฟอกขาว

ข้อมูลจาก : http://www.otoptoday.com

1 ความคิดเห็น:

  1. สนใจโซเดียมซิลิเกต sodium silicate ติดต่อ บริษัท ช.เคมีไทย จำกัด โทร. 02-810-5090 www.cthaigroup.com

    ตอบลบ