วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2555

ข้อมูจาก www.dailynews.co.th



สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามและประเมินสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2555 โดยนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า การส่งออก ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะ ข้าวและ ยางพารา เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป รวมทั้งราคาส่งออกที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งขันทำให้ประเทศคู่ค้าที่สำคัญหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า ทุกสาขาขยายตัว ยกเว้นสาขาประมง

สาขาพืช ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ ผลไม้ เช่น ลำไย เงาะ เป็นต้น ผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี   อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน มังคุด และ สับปะรด ซึ่งผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก ภายหลังน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 คลี่คลายลง ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ขณะที่ผล  ผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตดี รวมทั้งการระบาดของเพลี้ยแป้งมีน้อย ส่วนผลผลิตผลไม้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการออกดอกและติดผล สำหรับสถานการณ์ด้านราคา
พบว่า มันสำปะหลัง ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก และความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง สาขาปศุสัตว์ การผลิตสาขาปศุสัตว์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยสินค้าปศุสัตว์สำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และ น้ำนมดิบ การผลิตสุกรมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้สุกรเจริญเติบโตได้ดีมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตไก่เนื้อมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้านการผลิตไข่ไก่มีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เป็นผลสืบเนื่องจากการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ได้อย่างเสรีตั้งแต่ปี 2553 ทำให้มีจำนวนไก่ไข่ที่ให้ผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจด้านราคา อย่างไรก็ตาม ราคาปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีทิศทางลดลง ยกเว้นน้ำนมดิบ  สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น หลังจากอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งแรงจูงใจทางด้านราคา ทำให้มีกิจกรรมเตรียมดินเพาะปลูก โดยใช้บริการจากรถแทรกเตอร์ รวมทั้งการใช้บริการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากรถเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ด้านสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.5 เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากป่าที่สำคัญหลายชนิดมีปริมาณเพิ่ม เช่น น้ำผึ้ง ไม้ไผ่ ครั่ง และ ยางไม้ธรรมชาติ โดยเฉพาะ น้ำผึ้ง ที่สร้างมูลค่าและแปรรูปได้หลากหลาย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก อีกทั้งอุตสาหกรรมไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ในไทยขยายตัวขึ้น ทำให้มีการทำไม้ออกจากป่าปลูกเพิ่ม ในส่วนของสาขาประมง หดตัวร้อยละ 1.6 โดยผลผลิต กุ้งทะเล ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงลดลง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดที่สำคัญ คือ ปลานิล ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2555 คาดว่าเศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.8 -4.8 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การผลิตภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความแปรปรวนมากขึ้น ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย โรคระบาดและศัตรูพืช นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกก็มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ชัดเจน และอาจมีการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในช่วงปลายปีนี้ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพึ่งพิงการส่งออกหรือการลงทุนจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ต้องพึ่งพิงการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  หากปัญหาดังกล่าวลุกลามจนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลให้ภาคการส่งออกโดยรวม รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้หดตัวตามไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น